วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551

เรื่องเล่าจากฝรั่งเศส ตอนที่1 เมืองรอชฟอรต์ (Rochefort)

เมื่อช่วงวันที่ 3 ตุลาคม 2548 ถึงวันที่ 27 มกราคม 2549 ผู้เขียนมีโอกาสได้รับทุนจากกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสไปศึกษา ‘หลักสูตรการสอนภาษาฝรั่งเศสในฐานะภาษาต่างประเทศ’ ณ ศูนย์อบรมภาษาของเหล่าทัพ เมืองรอชฟอรต์ (Rochefort) ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นเวลา 4 เดือน ผู้เขียนได้รับประสบการณ์จากการเดินทางครั้งนี้มากมาย จึงอยากจะเล่าสู่กันฟัง ทั้งนี้ ทุกอย่างจะเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ และจากมุมมองส่วนตัวค่ะ
เรื่องที่จะเล่าในตอนแรกนี้ เป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปของเมืองที่ผู้เขียนไปอยู่ เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ทีเดียว เพราะขนาดผู้เขียนเคยติดตามคุณพ่อ (ซึ่งได้รับทุนไปเรียนหลักสูตรวิทยาลัยการทัพฝรั่งเศสที่ École militaire ณ กรุงปารีส) ไปเรียนหลักสูตรภาษาที่ มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (ปารีส 3) เมื่อครั้งยังมีอายุ 16 ปี แต่ก็อยู่เฉพาะในกรุงปารีส คราวนี้ได้ไปอยู่เมืองเล็ก ๆ ที่ไม่เคยแม้แต่จะได้ยินชื่อมาก่อน เมืองรอชฟอรต์ เป็นเมืองขนาดย่อมในแคว้นปัวตูร์-ชาร็องต์ (Poitou-Charentes) และอยู่ใน เขตการปกครอง ชาร็องต์-มาริตีม (Charente-Maritime) ห่างจากกรุงปารีสไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 500 กิโลเมตร หากนั่งรถไฟความเร็วสูง TGV ไปก็ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง เมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่าง เมืองลาโรแชล (La Rochelle) และ เมืองบอร์โดซ์ (Bordeaux) ไม่ไกลจากชายฝั่งแอตแลนติก มีแม่น้ำสำคัญพาดผ่าน คือ แม่น้ำชาร็องต์ (La Charente) มีประชากรประมาณ 25,000 คน เมืองนี้เงียบเหงามาก ทำให้ในช่วงแรก ๆ ผู้เขียนคิดว่า ชีวิตช่างเศร้าเหลือเกิน โรงเรียนของผู้เขียนตั้งอยู่ขอบเมืองทางตะวันตก ห่างจากตัวเมืองประมาณ 6-7 กิโลเมตร แต่ไม่มีรถเมล์ผ่านเลย ทั้งเมืองมีรถเมล์ 5 สาย วิ่งทับเส้นทางกันไปมาแต่ไม่เฉียดโรงเรียนเลย ดังนั้น การคมนาคมหลักเวลาอยากเข้าเมือง คือ การเดินเท้า เท่านั้น ส่วนห้างสรรพสินค้า โรงหนัง ร้านอาหาร ตลาด แหล่งบันเทิงเริงรมย์ ล้วนกระจุกกันอยู่ในตัวเมือง ทำให้พวกเราต้องเดินเข้าเมืองกันเป็นอาจิณ ช่วงแรก ๆ อากาศยังไม่หนาว ก็ยังพอทน แต่พอเข้าฤดูหนาวจริงๆ บรื๋อ... ต้องเดินแบบฟันกระทบกันกึก ๆ ทรมานใช้ได้ทีเดียว อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนต้องท่องไว้ว่า ‘ชีวิตต้องสู้’ ค่ะ

มาทำความรู้จักเมืองรอชฟอรต์ (Rochefort) กันสักนิด เมืองนี้ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.1666 สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งพระองค์ทรงเลือกพื้นที่ริมแม่น้ำชาร็องต์แห่งนี้ เพื่อสร้างเป็นคลังสรรพาวุธและเพื่ออุตสาหกรรมเดินเรือ ในปัจจุบัน ศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ สำหรับสถานที่สำคัญที่เมืองนี้ยกขึ้นมาเป็น ‘จุดขาย’ นั้น ส่วนใหญ่จะเน้นด้านประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการเดินเรือ เช่น
อู่ต่อเรือแอร์มิยอน (Chantier de l’Hermione) ซึ่งทางการกำลังสร้างจำลองขึ้นมาใหม่ เพราะเป็นเรือสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ ลาฟาแยตต์ (Lafayette) ใช้เดินทางข้ามมหาสมุทรไปช่วยอเมริกาต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษในปี 1780 โดยเริ่มสร้างเรือแอร์มิยอนลำใหม่มาตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปัจจุบัน


กอร์เดอรี รัวยาล (Corderie Royale) เป็นโรงผลิตเชือกขนาดใหญ่ที่ใช้ในเรือเดินสมุทร มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เคยถูกไฟไหม้หมดในสมัยสงครามโลก แต่ก็ได้รับการบูรณะจนสวยงามเหมือนเดิม ลักษณะเป็นอาคารที่ยาวมาก เพราะด้านในต้องสามารถใช้ถักเชือกขนาดยักษ์ได้

พิพิธภัณฑ์การเดินเรือ (Musée de la Marine) แสดงประวัติศาสตร์การเดินเรือและอุปกรณ์บนเรือเดินสมุทรสมัยโบราณ
อนุสาวรีย์และพิพิธภัณฑ์บ้านของปิแอร์ โลติ (Pierre Loti) บุคคลสำคัญท่านนี้เป็นอดีตทหารเรือและนักเขียนในศตวรรษที่ 19 เขาเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ทั่วโลกและค่อย ๆ เก็บสะสมของที่ระลึกมาตกแต่งบ้านเกิดของเขา จนแต่ละห้องมีเอกลักษณ์ต่าง ๆ กัน เช่น ห้องอาหรับ ห้องตุรกี ห้องจีน ห้องโกธิค ห้องเรอเนสซองส์


ประตูพระอาทิตย์ (Porte du Soleil หรือ Porte de l’Arsenal) ลักษณะคล้ายประตูชัยในกรุงปารีส แต่เล็กกว่ามาก
สะพานเหล็กข้ามแม่น้ำแบบใช้รอก (Pont Transbordeur) เป็นสะพานข้ามฟากแบบใช้รอกแห่งสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ในยุโรป
จัตุรัสกอลแบร์ (Place Colbert) ลานอเนกประสงค์ที่เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง ประกอบด้วย อนุสาวรีย์ Porte Royale น้ำพุ สวนดอกไม้ ร้านกาแฟ ในฤดูหนาวก็ยังมีลานสเก็ตน้ำแข็งอีกด้วย


นอกจากนี้ ถ้าต้องการเดินเล่นในเมือง ก็มี ท่าเรือเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยเรือยอร์ชและเรือใบน่ารัก ๆ ว่าง ๆ ก็ไปขี่จักรยานริมน้ำ ชมเรือใบเล่นก็ได้ ถึงแม้ว่า สถานที่แต่ละแห่ง จะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวนัก แต่ก็นับว่าน่าสนใจ และเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวเมืองรอชฟอรต์อย่างยิ่ง
ทุกเช้าวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ จะมีตลาดนัดบนถนนสายสำคัญในเมือง ปิดถนนตั้งร้านกันเลย โดยแบ่งเป็นสองสาย สายแรกจะขายพวกอาหารสด ผักผลไม้ เนื้อสัตว์ เนยแข็ง (Fromage) แบบ home made ชนิดต่าง ๆ ขนมนานาชนิด รวมทั้ง ขนมกาแลตต์ (Galettes) ซึ่งเป็นขนมประจำท้องถิ่น ลักษณะคล้ายขนมฝรั่งแต่แข็งกว่า รูปร่างกลม ๆ เหมือนขนมเค้ก หรืออาจเป็นชิ้นกลมเล็ก ๆ ก็ได้ (อร่อยมากค่ะ) ส่วนถนนอีกสายหนึ่ง จะขายพวกเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ ของจุกจิก ซึ่งถ้าคูณจากเงินยูโรเป็นเงินบาทแล้ว ราคาก็ไม่ถูกนัก แต่ก็ยังถูกกว่าซื้อจากร้านปกติหลายตังค์อยู่ ผู้เขียนเองเจ็บใจมานักต่อนักแล้วค่ะ
สำหรับสถานที่น่าสนใจรอบ ๆ เมืองรอชฟอรต์ ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเที่ยว ก็อย่างเช่น เมืองลาโรแชล (La Rochelle) เมืองหลวงของชาร็องต์-มาริตีม ซึ่งผู้เขียนประทับใจมาก เพราะสวยงามและมีป้อมปราการสมัยโบราณซึ่งยังคงความงดงามไว้หลายแห่ง รวมทั้ง มีท่าเรือเก่าแก่ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาหุ่นกลที่ขยับได้ทุกตัว และพิพิธภัณฑ์โมเดลจำลอง ส่วน Hôtel de Ville หรือศาลากลางจังหวัด (เรียกซะบ้านนอกเชียว!) ก็สวยแปลกตา เพราะมีลักษณะเป็นโดมยอดแหลม ทั้งกลม-เหลี่ยม แล้วยังปักธงตามกำแพง จนนึกว่าเป็นดิสนีย์แลนด์เสียอีกค่ะ
เมืองแซงต์ (Saintes) เมืองประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนประทับใจกับสนามกีฬาโบราณรูปวงรีแบบกัลโล-โรแม็ง (Amphithéâtre gallo-romain) คือผสมผสานระหว่างศิลปะโกลัวร์-โรมัน อายุนับสองพันปี ซึ่งให้ความรู้สึกแบบโบราณ ๆ แล้วยังมีอนุสาวรีย์และโบสถ์เก่าแก่อีกหลายแห่ง เดินดูเท่าไหร่ก็ไม่เบื่อ แถมขอกระซิบว่า เมืองนี้มีดิสโกเธคที่ใหญ่เหลือเชื่ออยู่แห่งหนึ่งด้วย ขนาดผู้เขียนเริ่มหมดวัยเที่ยวกลางคืนแล้ว ยังอดตื่นตาตื่นใจไม่ได้
เมืองแซงต์เตมิลิยง (Saint-Emilion) แหล่งผลิตไวน์ที่สำคัญในภูมิภาคนี้ ผู้เขียนได้ไปดูขั้นตอนการผลิตไวน์ตั้งแต่ในไร่องุ่น และยังได้เรียนรู้วิธีชิมไวน์ที่ ‘ชาโตชองปิยง’ (Château Champion) ถึงแม้ปกติผู้เขียนจะไม่ชอบดื่ม แต่มีโอกาสแบบนี้ก็ต้องชิมหมดทุกอย่าง
เมืองคอนยัค (Cognac) ไกลออกไปทางตะวันออกอีกนิด แต่ฟังชื่อเมืองก็คงจะคุ้น ๆ เพราะเป็นชื่อบรั่นดีชนิดหนึ่ง เหล้าที่ผลิตจากเมืองนี้เท่านั้นที่จะมีสิทธิติดชื่อเป็น ‘คอนยัค’ มิฉะนั้นก็ต้องเรียกว่า ‘บรั่นดี’ ผู้เขียนได้แวะไปชิมคอนยัคถึงที่โรงงานผลิตของ มาร์แตล (Martell) ซึ่งเป็นยี่ห้อที่เก่าแก่ที่สุด โดยเริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี 1705 นอกจากนี้ ยังมียี่ห้อที่เป็นคอนยัคแท้ ๆ คือ Camus, Courvoisier, Hennessy, Otard และ Rémy Martin อีกด้วย
เมืองอ็องกูแล็ม (Angoulême) ซึ่งเด่นดังเรื่องการ์ตูน เพราะจัดนิทรรศการการ์ตูนโลกเป็นประจำทุกปี ในเมืองเต็มไปด้วยอนุสาวรีย์นักวาดการ์ตูน ตามกำแพงตึกก็มีภาพการ์ตูนสวย ๆ ซึ่งการจะวาดการ์ตูนบนกำแพงในเมืองนี้ได้ ก็ต้องขออนุมัติจากทางการก่อนด้วย
เมืองรัวย็อง (Royan) เมืองใหม่อายุเพียง 50 กว่าปี เพราะเคยถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองนี้จึงมีแต่สถาปัตยกรรมแบบใหม่ ๆ ให้บรรยากาศไปอีกแบบหนึ่ง
เมืองฟูราส์ (Fouras) เมืองเล็กๆซึ่งพอจะมีชายหาดให้ลงเล่นน้ำ อาบแดด มีสาวๆวาบหวิวให้ดูบ้าง
ไกลออกไปสักนิด คือที่ ฟูตูโรสโกป (Futuroscope) ในเมืองปัวติเย่ร์ (Poitiers) เป็นกึ่ง ๆ สวนสนุกที่แสดงวิวัฒนาการเทคโนโลยีสมัยใหม่ในลักษณะของเครื่องเล่น น่าสนใจดีทีเดียว
อีกแห่งหนึ่งที่ผู้เขียนอยากไปมาก ๆ แต่ไม่ได้ไปเพราะค่าเรือแพง คือ ฟอร์ตโบยารด์ (Fort Boyard) ที่สร้างตั้งแต่สมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ในปี 1804 เป็นป้อมปราการกลางทะเล ลักษณะเป็นวงรี สร้างบนสันดอนระหว่าง เกาะเอ็กซ์ (Ile d’Aix) และ เกาะโอเลรง (Ile d’Oléron) เพื่อใช้ป้องกันการรุกรานของอังกฤษก่อนเข้าถึงปากแม่น้ำชาร็องต์ แต่ได้ใช้ประโยชน์เป็นที่จองจำนักโทษเสียมากกว่า ต่อมาถูกทิ้งร้างตั้งแต่ปี 1871 จนกระทั่งในยุคหลัง ป้อมปราการแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำเกมผจญภัยทางโทรทัศน์หลายเกม และเผยแพร่ในหลายประเทศ เช่น เกม Survivor หลายท่านคงพอจะจำได้
ในความรู้สึกของผู้เขียน ถึงแม้ เมืองรอชฟอรต์ จะเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ ที่แทบจะไม่มีใครรู้จัก แต่ก็เป็นเมืองที่มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง อีกทั้งในละแวกใกล้เคียงก็มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมาย หากใครมีโอกาสก็น่าจะได้ลองผ่านไปแวะท่องเที่ยวดูสักครั้ง